วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เพกา ผักพื้นบ้านต้านโรค


ชื่อวิทยาศาสตร์ Oroxylum indicum(L.) Vent ฝักอ่อนของเพกาเป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่ง ยังพอหาได้ตลาดสดในหลายๆจังหวัด ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากเพกาสามารถขึ้นได้ตามที่รกร้างทั่วไป สามารถเจริญได้ดีในดินแทบทุกชนิด ฝักอ่อนของเพกาที่ยังไม่แข็ง มีรสขมร้อน นิยมรับประทานเป็นผัก แต่อาจจะต้องนำไปเผาไฟให้ไหม้เกรียม แล้วขูดเอาผิวที่ไหม้ไฟออก นำไปหั่นเป็นฝอยแล้วคั้นน้ำทิ้งหลายๆครั้ง หลังจากนั้นนำไปปรุงเป็นอาหาร เช่นผัดหรือแกง หรืออาจรับประทาน เป็นผักแกล้มลาบ ก้อย ยำ บางรายก็รับประทานเป็นผักสดๆ หรือลวกกินกับน้ำพริก ยอดอ่อนและดอกเพกานั้น สามารถรับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกได้เช่นเดียวกัน ส่วนฝักที่แก่แล้วของเพกาจะแตกออกแล้วมีเมล็ดที่มีปีกบางๆสีขาว ปลิวลอยล่องไปตามลมสวยงามมาก เมล็ดของเพกาเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่อยู่ในน้ำจับเลี้ยง เป็นยาเย็น มีฤทธิ์แก้ไอ ขับเสมหะ เพกา จัดเป็นสมุนไพรที่หมอยาพื้นบ้านใช้มากชนิดหนึ่ง ทั้งในส่วนของใบ เปลือก ราก

-ใบของเพกาเป็นยาเย็น เป็นส่วนประกอบสำคัญของยาเขียว โดยใบมีสรรพคุณฝาดขม ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดข้อ แก้ปวดท้อง เจริญอาหาร

-รากมีรสฝาดขม เป็นยาแก้ท้องร่วง ฝนกับน้ำปูนใสทาแก้อักเสบฟกบวม

-เปลือกต้นรสขมเย็น เป็นยาฝาดสมาน ดับพิษโลหิต ดับพิษกาฬ แก้น้ำเหลืองเสีย ป่นเป็นผงหรือชงกินกับน้ำ ใช้ขับเหงื่อ แก้ไขข้ออักเสบเฉียบเฉียบพลัน เป็นยาขมเจริญอาหาร ต้มกินแก้เสมหะจุกคอ ขับเสมหะ ขับเลือดเน่าในเรือนไฟ บำรุงโลหิต แก้บิด แก้จุกเสียด ฝนกับสุรากวาดปากเด็ก แก้พิษซาง แก้ละออง ใช้ทาแก้ปวดฝี แก้ฟกบวม ผงเปลือกผสมขมิ้นชันเป็นเป็นยาแก้ปวดหลังของม้า แต่การใช้ประโยชน์ของฝักเพกาอ่อนบางอย่างไม่ค่อยได้รับการเปิดเผยมากนัก คือ มีหมอยาพื้นบ้านเล่าว่า เพกานั้นเป็นยาโป๊วที่ไม่เป็นสองรองใคร สามารถใช้ได้ทั้งสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี ซึ่งตามศาสตร์ตะวันออกแล้วก็มีความเป็นไปได้ เพราะเพกามีรสขมร้อน และยังมีรายงานทางเภสัชวิทยาพบว่าเพกามีฤทธิ์ลด คอเลสเตอรอล ซึ่งการที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลนั้นก็จะช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น อะไรๆมันก็ดีขึ้นเอง และรายงานการศึกษาที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งคือ มีการวิจัยผักพื้นบ้านไทย ของคุณเกศินี ตระกูลทิวากร จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อที่จะดูว่าผักพื้นบ้านชนิดใดบ้าง ที่มีคุณสมบัติในการต้าน การก่อมะเร็งจากผักทั้งหมด 48 ชนิด เพกาเป็นผัก 1 ใน 4 ชนิดที่มีฤทธิ์ต้านการก่อมะเร็งสูงสุด ซึ่งไม่น่าเป็นที่แปลกใจเลย เนื่องจากในฝักเพกามีวิตามินซีสูงมาก สูงถึง 484 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม ในขณะที่มะนาว (แหล่งวิตามินซีที่ฝรั่งรู้จัก) มีเพียง 20 มิลลิกรัม นอกจากนี้ฝักเพกายังมีวิตามินเอ 8221 มิลลิกรัมใน 100 กรัมพอๆกับตำลึงทีเดียว ถ้าเรามองหาพืชผักที่ต่อต้านอนุมูลอิสระที่คอยทำลายเซลล์ของร่างกาย ทำให้เซลล์เกิดความไม่สมดุลย์จนเกิดกลายเป็นมะเร็ง จนเกิดการแก่ชราก่อนกำหนด ดูเหมือนเพกาจะเป็นสมุนไพรที่เหมาะที่สุดที่จะปกป้องเซลล์ของคนเราจากอนุมูลอิสระเพราะมีทั้งวิตามินเอและวิตามินซีในปริมาณสูง ซึ่งวิตามินทั้งสองจะทำงานร่วมกับ วิตามินอี ที่มีในรำข้าว ในข้าวกล้อง ส่วนเซเลเนียม มีมากในข้าว กระเทียม หอมใหญ่ หอม มะเขือเทศ จมูกข้าวสาลี และอาหารทะเล ดังนั้นถ้ากินยำฝักเพกา (อาหารเหนือ) กับข้าวกล้องก็ถือว่าสมบูรณ์แบบ ยำฝักเพกา มีส่วนประกอบดังนี้ ฝักเพกา 1 ฝัก พริกสด 3 เม็ด ขิง 3 ซ.ม. ข่า 1 แว่น กระเทียม 4 กลีบ ปลาร้า 1 ช้อนโต๊ะ นำฝักเพกามาเผาไฟให้สุก ห่อด้วยใบตอง ใช้เวลาเผาประมาณ 15 นาที ขูดเอาผิวออก หั่นตามขวางเป็นชิ้นเล็กๆ โขลกพริกขิงข่า กระเทียม ให้ละเอียด ปลาร้า ต้มสุกเหลือน้ำประมาณ 5-6 ช้อนโต๊ะ จากนั้นนำเครื่องยำและเพกามาคลุกให้เข้ากันนำยำ และนำยำเพกามารับประทานกับข้าวกล้อง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกินอาหารเสริมต้านมะเร็งตัวไหนๆอีกแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: