วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ขิง บรรเทาอาการแน่น จุกเสียด ป้องกันผมร่วง


สวัสดีค่ะ กลับมาพบกันอีกครั้งนะคะ ฉบับที่แล้วยังเล่าให้ฟังไม่จบเลยค่ะ เรื่องขิง ฉบับนี้ก็เลยจะขอเล่าให้ฟังเกี่ยวกับงานวิจัยขิงต่อ เพื่อให้ท่านผู้อ่านนำไปใช้ประโยชน์กันได้จริงๆ เพราะขิงเป็นพืชสมุนไพรที่หาได้ง่ายในบ้านเรานั่นเอง ในเรื่องของขิงกับการบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือ หรืออาการแพ้ท้อง นั้นก็พบว่าขิงสามารถช่วยป้องกันอาการเหล่านั้นได้ งานวิจัยชิ้นแรกทำในปี ค.ศ.1982 หรือประมาณ พ.ศ.2525 โดยมหาวิทยาลัย Brigham Young ในประเทศอังกฤษ ซึ่งผลการวิจัยนี้ก็ได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชื่อดัง Lancet งานวิจัยได้มีการศึกษาผลในการบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนอันเนื่องจากการที่ร่างกายต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เปรียบเทียบระหว่างยาแก้แพ้ชื่อ ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) ขนาด 100 มิลลิกรัมและขิงผงขนาด 940 มิลลิกรัม ในอาสาสมัครที่มีประวัติเมารถหรือเมาเรือ โดยให้อาสาสมัครนั่งเก้าอี้หมุนที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว พบว่าขิงผงทำให้อาสาสมัครนั่งอยู่บนเก้าอี้หมุนได้นานกว่ารับประทาน ยาไดเมนไฮดริเนตถึง 57 เปอร์เซ็นต์ จากงานวิจัยชิ้นนี้ นักวิจัยได้แนะนำให้ใช้ขิงแคบซูล ชาชงขิง หรือ เครื่องดื่มจิงเจอร์เอล (Ginger ale) ซึ่งดิฉันได้เล่าให้ฟังไปเมื่อคราวที่แล้วในการบรรเทาอาการเมารถและเมาเรือ นอกจากนั้นยังมีการศึกษาในทหารเรือชาวสวีเดน พบว่าการรับประทานขิงจะช่วยลดอาการเมาเรือได้ 72 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก (ยาหลอก เป็นชื่อเรียกสารที่ให้กับอาสาสมัครในงานวิจัย ซึ่งโดยปกติยาหลอกจะไม่มีผลต่อการรักษา แต่การให้ยาหลอกก็เพื่อเป็นการลดผลทางจิตวิทยาว่า อาสาสมัครไม่ได้รับยาเพื่อการรักษาโรค) นอกจากนั้นยังมีการวิจัยในอังกฤษถึงประสิทธิภาพของขิงในการป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนเนื่องจากการผ่าตัด โดยเทียบกับยาต้านการอาเจียน ชื่อเมโทโคลปราไมด์ (Metoclopramide) พบว่าขิงช่วยป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนเนื่องจากการผ่าตัดได้มากกว่ายาเมโทโคลปราไมด์ อย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีการวิจัยเรื่องขิงในการป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนเนื่องจากการได้รับยาเคมีบำบัดของผู้ป่วยมะเร็งก็ตาม แต่ใน Commission E หรือตำรายาโบราณของเยอรมันก็ระบุไว้ว่ามีการใช้ขิงเพื่อป้องกันอาการอาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งอย่างได้ผล ขิงยังช่วยบรรเทาอาการจุกเสียดแน่น การวิจัยในห้องปฎิบัติการพบว่าในขิงมีองค์ประกอบที่คล้ายคลึงเอนไซม์ที่ใช้ย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร ดังนั้นคนที่มีอาการแน่นจุกเสียด หรือมีปัญหาเนื่องจากอาการไม่ย่อยก็สามารถรับประทารขิงได้ ขิงยังช่วยลดอาการปวดเกร็งในช่องท้องเนื่องจากโรคในทางเดินอาหาร รวมถึงอาการปวดประจำเดือนในช่วงที่ผู้หญิงมีรอบเดือนได้ด้วย การวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อเสียง New England Journal of Medicine พบว่าขิงช่วยลดความดันโลหิตสูง ช่วยป้องกันการแข็งต้วของเลือด (Blood clots) ซึ่งการแข็งตัวของเลือดนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจวายและอัมพฤกอัมพาตได้ ดังนั้นบรรดานักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายจึงแนะนำให้รับประทานขิงเพื่อให้อายุยืน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง ซึ่งพบกันมากในสังคมปัจจุบัน ขิงยังช่วยป้องกันอาการปวดจากบาดแผลได้ ถึงแม้ว่าขิงจะไม่ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นก็ตาม ส่วนการวิจัยในห้องปฎิบัติการพบว่าขิงมีสารต้านการอักเสบซึ่งคนยุโรปในสมัยโบราณใช้ขิงในการบรรเทาอาการอักเสบของข้อเข่า (Arthritis) สุดท้ายการศึกษาของแพทย์จีนพบว่าขิงช่วยฆ่าเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา(Influenza virus) ซึ่งเป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดหวัด ส่วนการศึกษาของอินเดียพบว่าขิงช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ ซึ่งการศึกษานี้สนับสนุนให้เห็นถึงการใช้ขิงของคนจีนโบราณในการบรรเทาอาการไข้หวัดและโรคอันเกี่ยวเนื่องกับการติดเชื้อ ไม่ใช่ว่าขิงจะมีประโยชน์ในทางยาเท่านั้น ขิงยังถูกนำมาใช้เพื่อความงามด้วย อย่างเช่นแชมพูขิงที่โรงพยาบาลอภัยภูเบศรทำอยู่ ขิงจะช่วยลดความมันของหนังศรีษะ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงหนังศรีษะ เวลาที่เลือดไปเลี้ยงที่อวัยวะใด อวัยวะนั้นก็จะมีการทำงานที่ดีขึ้น อย่างเช่น หนังศรีษะถ้ามีเลือดมาเลี้ยงมากๆ ก็จะกระตุ้นให้เส้นผมงอกมากขึ้นได้ ซึ่งขิงเองเหมาะกับคนที่มีปัญหาผมร่วงที่เกิดจากภาวะหนังศรีษะมัน ดังนั้นถ้าใครมีปัญหาอย่างที่ว่าก็อย่าลืมลองใช้ขิงดูนะคะ
ขิงมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งมดลูกพริกกำราบมะเร็งม้ามจนงอหงิก นักวิทยาศาสตร์รายงานต่อที่ประชุมสมาคมวิจัยโรคมะเร็งแห่งอเมริกาว่า ขิงมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งมดลูก และสารประกอบในพริก ช่วยกำราบมะเร็งของม้ามให้หดเหี่ยวได้ อย่างไรก็ดี การศึกษาขิงยังทำกับเซลล์ มะเร็งในจานทดลอง ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ยังอยู่อีกไกลกว่าจะเอามาใช้กับคนไข้จริงๆได้ แต่ก็นับเป็นขั้นแรกของการทดสอบความคิด ดร.รีเบกกา หลิว ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชาสูติศาสตร์และโรคเฉพาะสตรี ของศูนย์โรคมะเร็ง มหาวิทยาลัยมิชิแกน หัวหน้าคณะผู้วิจัยรายงานว่า ขิงฆ่าเซลล์ มะเร็งลงได้ 2 แบบ แบบหนึ่งโดยทำให้ เซลล์มะเร็งทำลายตัวเองและอีกทางหนึ่งทำให้เซลล์ย่อยตัวเอง ขิงได้แสดงให้ เห็นว่า มีฤทธิ์ควบคุมการอักเสบไว้อยู่มือ ซึ่งการอักเสบติดเชื้อเป็นสาเหตุทำให้เกิดเป็นมะเร็งที่มดลูกขึ้น ในการศึกษาวิจัยอีกเรื่องหนึ่ง ได้พบว่าสารแคป-ไซซิน ได้ก่อชนวนให้เซลล์ มะเร็งตายราบได้ ยิ่งกว่านั้น ยังทำให้ก้อนมะเร็งหดเล็กลงอย่างสังเกตได้ด้วย โดยที่มันกัดกินเนื้อมะเร็งของม้าม โดยไม่แตะต้องเซลล์ ปกติของม้ามแต่อย่างใด และก่อนหน้าเมื่อเดือนก่อนนี่เอง นักวิจัยในลอสแอนเจลิสก็รายงานว่า สารแคปไซซินได้ฆ่าเซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมาก แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังแย้งว่า แม้ว่าจะปรากฏว่ามีสารประกอบหลายอย่างสามารถหยุดยั้งมะเร็งในหนูได้ แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่ามันแสดงผลได้ใกล้เคียง เมื่อเปลี่ยนเอามาใช้กับคนไข้โรคมะเร็ง เหมือนอย่างที่ปรากฏในหนูเลย.

ไม่มีความคิดเห็น: